สถิติผู้เยี่ยมชม :

658613

เกี่ยวกับโครงการ สควค.

โครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.)

1. ความเป็นมาของโครงการ สควค.

     ด้วยรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษในการจัดการเรียนการสอน ทางวิชาฟิสิกส์ เคมี  ชีววิทยา คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์  จึงมีมติให้ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ  ทบวงมหาวิทยาลัย (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาในปัจจุบัน)  และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมมือกันดำเนินงานโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ที่มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน  และมีผู้ทรงคุณวุฒิ  ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ  โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 จนถึงปัจจุบันการดำเนินงานประกอบด้วย 3 ระยะ

           ระยะที่ 1 (พ.ศ.2539 - 2547)  ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2539  โดยในปีแรกคณะกรรมการกำหนดนโยบายฯ มีมติเร่งผลิตครูให้ทันกับความต้องการ จึงให้คัดเลือกนิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาในชั้นปีที่ 1 - 4 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตของศูนย์อุดมศึกษาเข้ารับทุน และในปี พ.ศ.2540 เริ่มให้ทุนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายโดยคัดเลือกนักเรียนที่จบ
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้ารับทุนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 400 คน และคัดเลือกนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้ารับทุนในระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 จำนวน 400 คน ต่อมาในปี พ.ศ.2542 และ คณะกรรมการกำหนดนโยบายมีมติให้ยกเลิกการให้ทุนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและให้ปรับเป็นการให้ทุนระดับปริญญาเอก และระดับปริญญาโทควบเอก ตั้งแต่ พ.ศ.2543 - 2549 เพื่อผลิตบัณฑิตทางการศึกษาจำนวน 20 คน ต่อปี รวม 7 รุ่น  และยังคงการให้ทุนระดับปริญญาตรีไว้ โดย พ.ศ.2542 - 2543 ปรับลดทุนระดับปริญญาตรี จาก 800 คน เป็น 380 คน และปรับเป็น 580 คน ตั้งแต่ พ.ศ.2544 เป็นต้นมา

           ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2548 - 2549)  ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2548 อนุมัติให้ดำเนินโครงการ สควค. โดยให้ทุนผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) เข้าศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) ในคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ เป็นเวลา 1 ปี จำนวน 480 ทุนต่อปี และเมื่อเข้ารับราชการครูเป็นเวลา 2 ปี แล้ว สามารถรับทุนระดับปริญญาโทได้

      ผลการดำเนินงานในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 สามารถผลิตบัณฑิต สควค. ได้จำนวน  4,568 คน ซึ่งจากผลการประเมินโครงการในช่วง 4 ปีแรกของระยะที่ 1 มีข้อมูลบ่งชี้ชัดเจนว่าโครงการ สควค. สามารถผลิตครูที่มีคุณภาพ ครูกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง ปัจจุบันเป็นผู้สอนในโครงการขยายผล สอวน. สู่โรงเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ด้วยหลักสูตรโอลิมปิกวิชาการ เป็นผู้นำทางวิชาการของโรงเรียนในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์

           ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินโครงการ สควค. ระยะที่ 3 (พ.ศ.2553 - 2560)  โดยคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิทยาศาสตร์ (วท.บ.) เข้ารับทุนศึกษาต่อในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) เป็นเวลา 1 ปี จำนวน 580 ทุนต่อปี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) จัดสรรอัตราข้าราชการครูที่ว่างจากการเกษียณอายุของข้าราชการครูในแต่ละปี เพื่อบรรจุครู สควค. และเมื่อปฏิบัติงานครบ 2 ปี มีสิทธิ์ได้รับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโทในประเทศ เป็นระยะเวลา 2 ปี หลังดำเนินงานได้ 1 ปี  คณะกรรมการคุรุสภามีมติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2553 ยกเลิกการให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูกับผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ป.บัณฑิต คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 อนุมัติให้ปรับรูปแบบการดำเนินงานโครงการ สควค. ระยะที่ 3 เป็นพ.ศ.2555 - 2560 โดยให้ผลิตปีละ 580 คน รวมทั้งสิ้น 3,480 คน ประกอบด้วยทุนการศึกษาพิเศษเฉพาะ (Premium)  เป็นทุนระดับปริญญาโททางการศึกษา จำนวนปีละ 400 ทุน รวม 2,400 คน เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูในโรงเรียนที่เปิดสอนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ของ สพฐ. หรือโรงเรียนตามที่คณะอนุกรรมการ สควค. ระดับหลังสำเร็จการศึกษากำหนด และทุนการศึกษาพิเศษเฉพาะขั้นสูง (Super Premium) จำนวนปีละ 180 ทุน รวม 1,080 คน ศึกษาหลักสูตรที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการสอน(หลักสูตรนานาชาติ) เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูในโรงเรียนมาตรฐานสากลหรือโรงเรียนในโครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษได้แก่ English Program : EP หรือ Mini English Program : MEP ของ สพฐ. หรือโรงเรียนตามที่คณะอนุกรรมการ สควค. ระดับหลังสำเร็จการศึกษากำหนด  นอกจากนี้ ภายหลังบรรจุเข้าปฏิบัติงานแล้ว 2 ปี จะได้รับทุนสนับสนุนการไปฝึกประสบการณ์ในต่างประเทศเป็นเวลา 1 ปี การดำเนินงานโครงการ สควค. ระยะที่ 3 (พ.ศ.2555 - 2560) ตามมติวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 เริ่มดำเนินการจริงในปี พ.ศ.2556 เนื่องด้วยรัฐบาลให้ชะลอการผลิต ในปี พ.ศ.2555 จึงนับเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 - 2561 และจากผลการเตรียมสถาบันผลิตครูในปี พ.ศ. 2555 การคัดเลือกนักศึกษาในต้นปี พ.ศ. 2556 พบว่าสถาบันผลิตครูในประเทศยังไม่สามารถดำเนินการผลิตครูทุนการศึกษาพิเศษขั้นสูง (Super Premium) ระดับปริญญาโท ได้ เนื่องจากไม่มีสถานศึกษาให้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูเป็นภาษาอังกฤษ และการเปิดรับเฉพาะผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต(วท.บ.) ในสาขาวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ อาจเป็นการจำกัดสาขาที่แคบ เนื่องจากมีผู้สมัครในปี พ.ศ. 2556 เพียง 668 คน คณะกรรมการกำหนดนโยบาย
การดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการประชุมครั้งที่ 31-1/2556 เมื่อวันศุกร์ ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 จึงมีมติเห็นชอบให้ปรับรูปแบบการผลิตครูโครงการ สควค. ระยะที่ 3 จากเดิมผลิตครูทุนการศึกษาพิเศษเฉพาะ (Premium) 400 ทุน ต่อปี และทุนการศึกษาพิเศษเฉพาะขั้นสูง (Super Premium) 180 ทุน ต่อปี เป็นการผลิตครูทุนการศึกษาพิเศษเฉพาะ (Premium) 580 ทุนต่อปี และคัดเลือกผู้มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษและคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่กำหนด เข้ารับทุนการศึกษาพิเศษเฉพาะขั้นสูง (Super Premium) ในต่างประเทศ 1 ปี จำนวน 180 ทุน ต่อปี และเห็นชอบให้ปรับเพิ่มคุณสมบัติของผู้รับทุน โดยเปิดให้ผู้สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณิตศาสตร์ประยุกต์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และ
ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) สมัครเข้ารับทุนได้  และเริ่มเปิดให้ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต ศึกษาศาสตรบัณฑิต การศึกษาบัณฑิต ที่มีใบประกอบวิชาชีพครูสมัครเข้ารับทุนได้เมื่อปี พ.ศ.2559 ตามมติคณะกรรมการกำหนดนโยบายฯ  ในการประชุมครั้งที่ 32-1/2558 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2558

ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556 - 2561)
          1. เป็นโครงการผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาขาดแคลนต่อเนื่องจากระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่จะสร้างครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีความสามารถพิเศษในระดับปริญญาโท ที่มีความรู้ความสามารถด้านเนื้อหาวิชาการ มีความเชี่ยวชาญในทางจัดการเรียนการสอน และมีจิตวิญญาณความเป็นครูสูง สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้พัฒนาศักยภาพผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้อย่างเหมาะสมสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสอนในการค้นคว้าหาความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเจรจาความร่วมมือกับโรงเรียนชั้นนำของนานาชาติได้ โดยมีการออกแบบหลักสูตรผลิตครูระดับปริญญาโทใหม่เพื่อให้สามารถผลิตครูให้มีสมรรถนะและความสามารถดังกล่าวข้างต้นได้ สร้างระบบกระบวนการคัดเลือกคนดีคนเก่งเข้ามาเป็นครู โดยการให้ทุนการศึกษาตลอดระยะเวลาที่ศึกษาตามหลักสูตรที่พัฒนาขึ้น การบรรจุงานให้ทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา และการพัฒนาสนับสนุนและส่งเสริมให้บัณฑิตจากโครงการสควค. สามารถเป็นผู้นำทางวิชาการในสาขาวิชาที่ตนเองสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

  1. เป็นโครงการผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในสาขาขาดแคลนที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ  มีความชำนาญทางวิชาชีพ และมีจิตวิญญาณในวิชาชีพครู จึงคัดเลือกผู้ที่จบ วท.บ. สาขาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และวิทยาการคอมพิวเตอร์ และมีความศรัทธาในวิชาชีพครู เข้าศึกษาหลักสูตรปริญญาโท ใช้เวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 2 ปี
  2. เป็นโครงการผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับสอนในโรงเรียนที่เน้นการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
    ในโรงเรียนที่มีโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ หรือ โรงเรียนมาตรฐานสากล หรือโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษใน
    การสอน (English Program : EP)  ของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสังกัด สพฐ. ทุกเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศหรือโรงเรียนตามที่คณะอนุกรรมการ สควค. ระดับหลังสำเร็จการศึกษา กำหนด
  3. เนื่องจากต้องการครูที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ มีความชำนาญทางวิชาชีพและมีจิตวิญญาณในวิชาชีพครู ดังนั้น จึงศึกษาวิชาเอกในหน่วยกิตที่เพิ่มขึ้นของหลักสูตรปริญญาโท เน้นการปฏิบัติงานวิชาชีพครู การปลูกฝังและกล่อมเกลาคุณลักษณะความเป็นครูและมีการฝึกปฏิบัติงานในสถานศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพที่คุรุสภากำหนด ตลอดจนได้รับการพัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษจึงจะสำเร็จการศึกษา 
  4. มีการประเมินเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเมื่อจบการศึกษา ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกันคุณภาพผลผลิตของบัณฑิตครูที่จะเข้าประกอบวิชาชีพครูต่อไป
  5. การผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นี้ต้องการจูงใจให้คนดีคนเก่งเข้าเรียน และคงอยู่ในวิชาชีพครูตลอดไป จึงจำเป็นต้องมีระบบการคัดเลือกผู้เข้าโครงการที่มีคุณภาพ มีการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะวิชา มีระบบการให้ทุนการศึกษาระหว่างเรียน มีการประกันการมีงานทำทุกคน 

2. วัตถุประสงค์ของโครงการ
          เพื่อผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับปริญญาโททางการศึกษา เพื่อสอนในสาขาวิชา คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเฉพาะให้กับนักเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ หรือนักเรียนของกลุ่มโรงเรียนมาตรฐานสากลและกลุ่มโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นสื่อในการสอน หรือโรงเรียนที่คณะอนุกรรมการ สควค. ระดับหลังสำเร็จการศึกษากำหนด  โดยผลิตครู สควค. ที่มีคุณลักษณะดังนี้
        (1) ผลิตครูที่มีคุณธรรมและจริยธรรม มีจิตวิญญาณความเป็นครูและเป็นครูมืออาชีพ
        (2) ผลิตครูที่มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนรู้ทางการศึกษา คณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ หรือคอมพิวเตอร์ ที่สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู
         (3) ผลิตครูที่มีความสามารถใช้ภาษาต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้และถ่ายทอดความรู้
         (4) ผลิตครูนักวิจัยที่สามารถพัฒนาความรู้ในศาสตร์ที่เชี่ยวชาญหรือพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาโดยใช้กระบวนการวิจัย
         (5) ผลิตครูนักคิดอย่างเป็นระบบ สามารถคิดสร้างสรรค์ คิดวิจารณญาณ คิดแก้ปัญหาและสามารถตัดสินใจ
         (6) ผลิตครูที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ยุคใหม่
         (7) ผลิตครูให้สอดคล้องกับมาตรฐานครูคณิตศาสตร์ หรือครูวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) 

3. เป้าหมาย

            3.1 เป้าหมายเชิงปริมาณ 

           ผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ ระดับปริญญาโททาง
การศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 - 2561 ปีละ 580 คน รวม 6 ปี จำนวนทั้งสิ้น 4,634 คน
    3.2 เป้าหมายเชิงคุณภาพ

          ครูที่จบจากโครงการ สควค. เป็นผู้ที่มีคุณภาพสูงเยี่ยม และเป็นผู้นำทางวิชาการ สามารถจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และนักเรียนทั่วไประดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้อย่างดีเยี่ยม 

4. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
     1. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และศูนย์มหาวิทยาลัย รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรตลอดจนการจัดการเรียนการสอนและฝึกประสบการณ์ให้กับนักศึกษา สควค. โดย สสวท. สพฐ. สกอ. คุรุสภา มหาวิทยาลัยในโครงการและผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรตามอุดมการณ์และเป้าหมายของโครงการ เพื่อการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษา สควค. ประเภทที่ 1 และ ประเภทที่ 2 ที่มีประสิทธิผล

       2. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รับผิดชอบระดับหลังสำเร็จการศึกษามีหน้าที่เตรียมอัตราตำแหน่งรองรับผู้สำเร็จการศึกษา ตลอดจนการติดตามกำกับดูแลและประเมินผล การปฏิบัติงาน ของผู้สำเร็จการศึกษาจาก
โครงการฯ และประสานกับคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ จัดสรรอัตราข้าราชการครูที่ว่างเนื่องจากการเกษียณอายุของข้าราชการครู กระทรวงศึกษาธิการเป็นรายปี สำหรับบรรจุนักศึกษา สควค.

        3. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการเป็นศูนย์ประสาน
การดำเนินงานการผลิตและการบรรจุ ผู้สำเร็จการศึกษา และเป็นหน่วยงานขอตั้งงบประมาณ ตั้งเงินทุนการศึกษาและงบประมาณดำเนินการ และจัดส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการ ตลอดจนประสานงานติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการ สควค. เพื่อให้งานของโครงการ สควค. ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ


5. คณะกรรมการ
          การดำเนินงานโครงการ สควค. จะมีคณะกรรมการ 1 คณะ และคณะอนุกรรมการ 3 คณะ เป็นผู้กำหนดนโยบาย และกำกับการดำเนินงาน คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการดังกล่าว มีดังนี้ 

1. คณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย และกำกับดูแลการดำเนินงานของโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษ ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) และการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ตลอดจนพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการได้ตามความเหมาะสม คณะกรรมการชุดนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน และผู้อำนวยการ สสวท. เป็นกรรมการและเลขานุการ 

2. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับอุดมศึกษาระดับประเทศคณะอนุกรรมการชุดนี้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และ คณิตศาสตร์ ขณะกำลังศึกษาในระดับปริญญาโท มีเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นประธาน หัวหน้าสาขาพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และส่งเสริมการผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

3. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับหลังสำเร็จการศึกษา คณะอนุกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับหลังสำเร็จการศึกษา มีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นประธาน หัวหน้าสาขาพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี และส่งเสริมการผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ

สถาบันผลิตครูที่เปิดรับผู้ที่มีวุฒิการศึกษา วิทยาศาสตรบัณฑิต หรือวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู

สถาบันผลิตครูที่เปิดรับผู้ที่มีวุฒิการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต
หรือ ศึกษาศาสตรบัณฑิต หรือ การศึกษาบัณฑิต มีใบประกอบวิชาชีพครู

1. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 
2. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

3. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
4. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
5. คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
6. วิทยาลัยนานาชาติ และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
7. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
8. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 
9. คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม  สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)
10. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
11. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
12. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
13. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
14. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

1. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
2. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
4. คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี
5. สถาบันนวัตกรรมการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยมหิดล

6. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
7. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
8. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
9. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
10. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

    

 

6. การคัดเลือกนักศึกษาเข้าโครงการ
     6.1 คุณสมบัติของผู้สมัคร  (เป็นไปตามประกาศรับสมัคร)

              6.2 การพัฒนาและส่งเสริมการศึกษา
                    นิสิตนักศึกษาที่ได้รับเลือกเข้าโครงการ สควค. ต้องศึกษาวิชาต่างๆ ให้ครบตามหลักสูตรปริญญาโทที่โครงการ
                     กำหนด และเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษเสริมตามความเหมาะสม ทั้งในขณะศึกษาและหลังสำเร็จการศึกษา ดังนี้

                    (1)  ขณะศึกษา
                          -  เข้าร่วมกิจกรรมตามที่โครงการกำหนด เช่น การปฐมนิเทศ  ค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายปัจฉิมนิเทศและอบรม
                             หลักสูตรห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ 

                          - เงินทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร และค่าธรรมเนียมการศึกษาตามที่จ่ายจริง ดังนี้

รายการ

จำนวนเงิน

1) ค่าใช้จ่ายส่วนตัว

 104,400 บาท/ปี

2) ค่าหนังสืออ่านประกอบ

  10,000 บาท/ปี

3) ค่าคอมพิวเตอร์

  35,000 บาท/หลักสูตร

4) ค่าใช้จ่ายสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์

  25,000 บาท/หลักสูตร

 

                (2) หลังสำเร็จการศึกษา
                     - มีสิทธิ์สอบคัดเลือกเข้ารับทุน Super-Premium เพื่อฝึกประสบการณ์การสอนในโรงเรียน
                       ในต่างประเทศเป็นระยะเวลา 1 ปี 

                      - มีสิทธิ์ขอรับทุนสนับสนุนการนำเสนอผลงานวิจัยในต่างประเทศ 
                      - ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำวิจัย ประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมละสื่อการสอนในปีแรกของการทำงานตลอด
                         จนได้รับการพัฒนา ให้เป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์หรือ
                         คอมพิวเตอร์ในโรงเรียน ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่โครงการกำหนด

        6.3 เงื่อนไขและข้อผูกพันทุนโครงการ สควค.
               1. ก่อนรับทุนต้องสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรตามประกาศรับสมัคร โดยมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรระดับปริญญาตรี ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ และมีผลคะแนนภาษาอังกฤษเป็นไปตามเกณฑ์ตามประกาศรับสมัคร 
               2. ขณะศึกษาต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยแต่ละปีการศึกษาไม่ต่ำกว่า 3.50 และเข้าร่วมกิจกรรมตามที่โครงการ สควค. กำหนด  นิสิต นักศึกษา ชั้นปีที่ 1 ที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดปีระหว่าง 3.00-3.49  สามารถรับทุนการศึกษาต่อในชั้นปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ได้อีก 1 ภาคการศึกษา หากผลการเรียนในชั้นปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ไม่ผ่านเกณฑ์ 3.50  ต้องพ้นสภาพการเป็นนิสิต นักศึกษาทุนโครงการ สควค. แต่ยังสามารถศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยจนสำเร็จการศึกษา โดยใช้ทุนส่วนตัว และจะไม่ได้รับ
การบรรจุเป็นข้าราชการครูทุนโครงการ สควค. และการพ้นสภาพหากเกิดจากเหตุอันไม่สมควร นิสิต นักศึกษา อาจต้องชดใช้เงินทุนการศึกษาเป็นจำนวนเงินสองเท่าที่ได้รับไป

               3. หลังสำเร็จการศึกษาต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยกำหนดโดยได้คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 3.50 และมีผลคะแนนภาษาอังกฤษ TOEFL Internet based test (TOEFL-iBT) ไม่น้อยกว่า 61 หรือ IELTS academics ไม่น้อยกว่า 5.5 และต้องปฏิบัติงานชดใช้ทุนในสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ ที่คณะอนุกรรมการ สควค. ระดับหลังสำเร็จการศึกษากำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของจำนวนเวลาที่ได้รับทุน
การศึกษาในประเทศ และไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของจำนวนเวลาที่รับทุนการศึกษาต่างประเทศ

7. การประเมินผลโครงการ
    ดำเนินการประเมินผลการดำเนินงานโครงการ สควค. ตั้งแต่เริ่มดำเนินตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 จนถึงสิ้นสุดโครงการในปี พ.ศ.2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
          1) ประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานของโครงการ
          2) ประเมินผลผลิตของโครงการ
          3) ศึกษาผลและความคุ้มค่าของโครงการ
          4) เสนอรูปแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของโครงการ
          การประเมินผลโครงการ สควค. ประเมินโดยหน่วยงานภายนอกที่มีชื่อเสียงและมีความชำนาญด้านการประเมินโครงการ

8. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
     การปรับรูปแบบโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556 - 2561) ตามรายละเอียดที่กล่าวแล้วข้างต้น จะมีผลกระทบที่สำคัญในเชิงบวกเกิดขึ้นหลายประการ ดังต่อไปนี้
          1) ทำให้ผู้มีศักยภาพสูงเยี่ยม สนใจสมัครเข้ารับทุนโครงการ สควค. เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศชาติมีครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ ที่ดีและเก่ง มีศักยภาพสูง สำหรับจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพสูงเยี่ยมทำให้คุณภาพการศึกษาในภาพรวม (เมื่อเทียบกับนานาชาติ) ของเยาวชนไทย ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ อยู่ในระดับที่ดีและสูงขึ้น
          2) มีครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีศักยภาพสูง สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนการสอนให้กับเยาวชนของไทยในโรงเรียน มาตรฐานสากลของ สพฐ.
ซึ่งจะตอบสนองและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่พยายามผลักดันให้เด็กและเยาวชน รุ่นใหม่ สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเสมือนเป็นภาษาที่สองของตนเอง

          3) ลดปัญหาการขาดแคลนครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในโรงเรียนที่จัดห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ หรือโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสอน (English Program : EP) หรือ โรงเรียนที่คณะอนุกรรมการ สควค. ระดับหลังสำเร็จการศึกษากำหนด


21 เมษายน 2566

ผู้ชม 27571 ครั้ง

Engine by shopup.com