เกี่ยวกับโครงการ สควค.
เกี่ยวกับโครงการ สควค.
โครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.)
1. ความเป็นมาของโครงการ สควค.
ด้วยรัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษในการจัดการเรียนการสอน ทางวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ จึงมีมติให้ 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย (สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาในปัจจุบัน) และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมมือกันดำเนินงานโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 จนถึงปัจจุบันการดำเนินงานประกอบด้วย 3 ระยะ
ระยะที่ 1 (พ.ศ.2539 - 2547) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2539 โดยในปีแรกคณะกรรมการกำหนดนโยบายฯ มีมติเร่งผลิตครูให้ทันกับความต้องการ จึงให้คัดเลือกนิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาในชั้นปีที่ 1 - 4 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิตของศูนย์อุดมศึกษาเข้ารับทุน และในปี พ.ศ.2540 เริ่มให้ทุนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายโดยคัดเลือกนักเรียนที่จบ
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้ารับทุนในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 4 จำนวน 400 คน และคัดเลือกนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้ารับทุนในระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 1 จำนวน 400 คน ต่อมาในปี พ.ศ.2542 และ คณะกรรมการกำหนดนโยบายมีมติให้ยกเลิกการให้ทุนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและให้ปรับเป็นการให้ทุนระดับปริญญาเอก และระดับปริญญาโทควบเอก ตั้งแต่ พ.ศ.2543 - 2549 เพื่อผลิตบัณฑิตทางการศึกษาจำนวน 20 คน ต่อปี รวม 7 รุ่น และยังคงการให้ทุนระดับปริญญาตรีไว้ โดย พ.ศ.2542 - 2543 ปรับลดทุนระดับปริญญาตรี จาก 800 คน เป็น 380 คน และปรับเป็น 580 คน ตั้งแต่ พ.ศ.2544 เป็นต้นมา
ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2548 - 2549) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2548 อนุมัติให้ดำเนินโครงการ สควค. โดยให้ทุนผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต (วท.บ.) เข้าศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) ในคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ เป็นเวลา 1 ปี จำนวน 480 ทุนต่อปี และเมื่อเข้ารับราชการครูเป็นเวลา 2 ปี แล้ว สามารถรับทุนระดับปริญญาโทได้
ผลการดำเนินงานในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 สามารถผลิตบัณฑิต สควค. ได้จำนวน 4,568 คน ซึ่งจากผลการประเมินโครงการในช่วง 4 ปีแรกของระยะที่ 1 มีข้อมูลบ่งชี้ชัดเจนว่าโครงการ สควค. สามารถผลิตครูที่มีคุณภาพ ครูกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง ปัจจุบันเป็นผู้สอนในโครงการขยายผล สอวน. สู่โรงเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ด้วยหลักสูตรโอลิมปิกวิชาการ เป็นผู้นำทางวิชาการของโรงเรียนในการพัฒนาและยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และคอมพิวเตอร์
ต่อมาเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินโครงการ สควค. ระยะที่ 3 (พ.ศ.2553 - 2560) โดยคัดเลือกผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาวิทยาศาสตร์ (วท.บ.) เข้ารับทุนศึกษาต่อในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.บัณฑิต) เป็นเวลา 1 ปี จำนวน 580 ทุนต่อปี เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) จัดสรรอัตราข้าราชการครูที่ว่างจากการเกษียณอายุของข้าราชการครูในแต่ละปี เพื่อบรรจุครู สควค. และเมื่อปฏิบัติงานครบ 2 ปี มีสิทธิ์ได้รับทุนศึกษาต่อระดับปริญญาโทในประเทศ เป็นระยะเวลา 2 ปี หลังดำเนินงานได้ 1 ปี คณะกรรมการคุรุสภามีมติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2553 ยกเลิกการให้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูกับผู้สำเร็จการศึกษาระดับ ป.บัณฑิต คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 อนุมัติให้ปรับรูปแบบการดำเนินงานโครงการ สควค. ระยะที่ 3 เป็นพ.ศ.2555 - 2560 โดยให้ผลิตปีละ 580 คน รวมทั้งสิ้น 3,480 คน ประกอบด้วยทุนการศึกษาพิเศษเฉพาะ (Premium) เป็นทุนระดับปริญญาโททางการศึกษา จำนวนปีละ 400 ทุน รวม 2,400 คน เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูในโรงเรียนที่เปิดสอนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ ของ สพฐ. หรือโรงเรียนตามที่คณะอนุกรรมการ สควค. ระดับหลังสำเร็จการศึกษากำหนด และทุนการศึกษาพิเศษเฉพาะขั้นสูง (Super Premium) จำนวนปีละ 180 ทุน รวม 1,080 คน ศึกษาหลักสูตรที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการสอน(หลักสูตรนานาชาติ) เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการครูในโรงเรียนมาตรฐานสากลหรือโรงเรียนในโครงการจัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษได้แก่ English Program : EP หรือ Mini English Program : MEP ของ สพฐ. หรือโรงเรียนตามที่คณะอนุกรรมการ สควค. ระดับหลังสำเร็จการศึกษากำหนด นอกจากนี้ ภายหลังบรรจุเข้าปฏิบัติงานแล้ว 2 ปี จะได้รับทุนสนับสนุนการไปฝึกประสบการณ์ในต่างประเทศเป็นเวลา 1 ปี การดำเนินงานโครงการ สควค. ระยะที่ 3 (พ.ศ.2555 - 2560) ตามมติวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554 เริ่มดำเนินการจริงในปี พ.ศ.2556 เนื่องด้วยรัฐบาลให้ชะลอการผลิต ในปี พ.ศ.2555 จึงนับเวลา 6 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 - 2561 และจากผลการเตรียมสถาบันผลิตครูในปี พ.ศ. 2555 การคัดเลือกนักศึกษาในต้นปี พ.ศ. 2556 พบว่าสถาบันผลิตครูในประเทศยังไม่สามารถดำเนินการผลิตครูทุนการศึกษาพิเศษขั้นสูง (Super Premium) ระดับปริญญาโท ได้ เนื่องจากไม่มีสถานศึกษาให้ฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูเป็นภาษาอังกฤษ และการเปิดรับเฉพาะผู้ที่สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิต(วท.บ.) ในสาขาวิชาฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา คณิตศาสตร์ และวิทยาการคอมพิวเตอร์ อาจเป็นการจำกัดสาขาที่แคบ เนื่องจากมีผู้สมัครในปี พ.ศ. 2556 เพียง 668 คน คณะกรรมการกำหนดนโยบาย
การดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในการประชุมครั้งที่ 31-1/2556 เมื่อวันศุกร์ ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 จึงมีมติเห็นชอบให้ปรับรูปแบบการผลิตครูโครงการ สควค. ระยะที่ 3 จากเดิมผลิตครูทุนการศึกษาพิเศษเฉพาะ (Premium) 400 ทุน ต่อปี และทุนการศึกษาพิเศษเฉพาะขั้นสูง (Super Premium) 180 ทุน ต่อปี เป็นการผลิตครูทุนการศึกษาพิเศษเฉพาะ (Premium) 580 ทุนต่อปี และคัดเลือกผู้มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษและคุณสมบัติผ่านเกณฑ์ที่กำหนด เข้ารับทุนการศึกษาพิเศษเฉพาะขั้นสูง (Super Premium) ในต่างประเทศ 1 ปี จำนวน 180 ทุน ต่อปี และเห็นชอบให้ปรับเพิ่มคุณสมบัติของผู้รับทุน โดยเปิดให้ผู้สำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณิตศาสตร์ประยุกต์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และ
ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วศ.บ.) สมัครเข้ารับทุนได้ และเริ่มเปิดให้ผู้สำเร็จการศึกษาหลักสูตรครุศาสตรบัณฑิต ศึกษาศาสตรบัณฑิต การศึกษาบัณฑิต ที่มีใบประกอบวิชาชีพครูสมัครเข้ารับทุนได้เมื่อปี พ.ศ.2559 ตามมติคณะกรรมการกำหนดนโยบายฯ ในการประชุมครั้งที่ 32-1/2558 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2558
ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556 - 2561)
1. เป็นโครงการผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาขาดแคลนต่อเนื่องจากระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ตามแนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่จะสร้างครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีความสามารถพิเศษในระดับปริญญาโท ที่มีความรู้ความสามารถด้านเนื้อหาวิชาการ มีความเชี่ยวชาญในทางจัดการเรียนการสอน และมีจิตวิญญาณความเป็นครูสูง สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้พัฒนาศักยภาพผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้อย่างเหมาะสมสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสอนในการค้นคว้าหาความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเจรจาความร่วมมือกับโรงเรียนชั้นนำของนานาชาติได้ โดยมีการออกแบบหลักสูตรผลิตครูระดับปริญญาโทใหม่เพื่อให้สามารถผลิตครูให้มีสมรรถนะและความสามารถดังกล่าวข้างต้นได้ สร้างระบบกระบวนการคัดเลือกคนดีคนเก่งเข้ามาเป็นครู โดยการให้ทุนการศึกษาตลอดระยะเวลาที่ศึกษาตามหลักสูตรที่พัฒนาขึ้น การบรรจุงานให้ทันทีเมื่อสำเร็จการศึกษา และการพัฒนาสนับสนุนและส่งเสริมให้บัณฑิตจากโครงการสควค. สามารถเป็นผู้นำทางวิชาการในสาขาวิชาที่ตนเองสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เป็นโครงการผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในสาขาขาดแคลนที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ มีความชำนาญทางวิชาชีพ และมีจิตวิญญาณในวิชาชีพครู จึงคัดเลือกผู้ที่จบ วท.บ. สาขาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และวิทยาการคอมพิวเตอร์ และมีความศรัทธาในวิชาชีพครู เข้าศึกษาหลักสูตรปริญญาโท ใช้เวลาศึกษาไม่น้อยกว่า 2 ปี
- เป็นโครงการผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สำหรับสอนในโรงเรียนที่เน้นการสอนวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์
ในโรงเรียนที่มีโครงการห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ หรือ โรงเรียนมาตรฐานสากล หรือโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษใน
การสอน (English Program : EP) ของสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสังกัด สพฐ. ทุกเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศหรือโรงเรียนตามที่คณะอนุกรรมการ สควค. ระดับหลังสำเร็จการศึกษา กำหนด - เนื่องจากต้องการครูที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการ มีความชำนาญทางวิชาชีพและมีจิตวิญญาณในวิชาชีพครู ดังนั้น จึงศึกษาวิชาเอกในหน่วยกิตที่เพิ่มขึ้นของหลักสูตรปริญญาโท เน้นการปฏิบัติงานวิชาชีพครู การปลูกฝังและกล่อมเกลาคุณลักษณะความเป็นครูและมีการฝึกปฏิบัติงานในสถานศึกษาตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพที่คุรุสภากำหนด ตลอดจนได้รับการพัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษจึงจะสำเร็จการศึกษา
- มีการประเมินเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูเมื่อจบการศึกษา ทั้งนี้เพื่อเป็นการประกันคุณภาพผลผลิตของบัณฑิตครูที่จะเข้าประกอบวิชาชีพครูต่อไป
- การผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์นี้ต้องการจูงใจให้คนดีคนเก่งเข้าเรียน และคงอยู่ในวิชาชีพครูตลอดไป จึงจำเป็นต้องมีระบบการคัดเลือกผู้เข้าโครงการที่มีคุณภาพ มีการพัฒนาหลักสูตรเฉพาะวิชา มีระบบการให้ทุนการศึกษาระหว่างเรียน มีการประกันการมีงานทำทุกคน
2. วัตถุประสงค์ของโครงการ
เพื่อผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับปริญญาโททางการศึกษา เพื่อสอนในสาขาวิชา คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเฉพาะให้กับนักเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ หรือนักเรียนของกลุ่มโรงเรียนมาตรฐานสากลและกลุ่มโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นสื่อในการสอน หรือโรงเรียนที่คณะอนุกรรมการ สควค. ระดับหลังสำเร็จการศึกษากำหนด โดยผลิตครู สควค. ที่มีคุณลักษณะดังนี้
(1) ผลิตครูที่มีคุณธรรมและจริยธรรม มีจิตวิญญาณความเป็นครูและเป็นครูมืออาชีพ
(2) ผลิตครูที่มีความรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนรู้ทางการศึกษา คณิตศาสตร์วิทยาศาสตร์ หรือคอมพิวเตอร์ ที่สอดคล้องตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู
(3) ผลิตครูที่มีความสามารถใช้ภาษาต่างประเทศเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้และถ่ายทอดความรู้
(4) ผลิตครูนักวิจัยที่สามารถพัฒนาความรู้ในศาสตร์ที่เชี่ยวชาญหรือพัฒนานวัตกรรมทางการศึกษาโดยใช้กระบวนการวิจัย
(5) ผลิตครูนักคิดอย่างเป็นระบบ สามารถคิดสร้างสรรค์ คิดวิจารณญาณ คิดแก้ปัญหาและสามารถตัดสินใจ
(6) ผลิตครูที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ยุคใหม่
(7) ผลิตครูให้สอดคล้องกับมาตรฐานครูคณิตศาสตร์ หรือครูวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
3. เป้าหมาย
3.1 เป้าหมายเชิงปริมาณ
ผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษสาขาวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ ระดับปริญญาโททาง
การศึกษา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 - 2561 ปีละ 580 คน รวม 6 ปี จำนวนทั้งสิ้น 4,634 คน
3.2 เป้าหมายเชิงคุณภาพ
ครูที่จบจากโครงการ สควค. เป็นผู้ที่มีคุณภาพสูงเยี่ยม และเป็นผู้นำทางวิชาการ สามารถจัดการเรียนการสอนสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ และนักเรียนทั่วไประดับมัธยมศึกษาตอนปลายได้อย่างดีเยี่ยม
4. หน่วยงานที่รับผิดชอบ
1. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และศูนย์มหาวิทยาลัย รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดทำหลักสูตรตลอดจนการจัดการเรียนการสอนและฝึกประสบการณ์ให้กับนักศึกษา สควค. โดย สสวท. สพฐ. สกอ. คุรุสภา มหาวิทยาลัยในโครงการและผู้ทรงคุณวุฒิ ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรตามอุดมการณ์และเป้าหมายของโครงการ เพื่อการจัดการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษา สควค. ประเภทที่ 1 และ ประเภทที่ 2 ที่มีประสิทธิผล
2. สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) รับผิดชอบระดับหลังสำเร็จการศึกษามีหน้าที่เตรียมอัตราตำแหน่งรองรับผู้สำเร็จการศึกษา ตลอดจนการติดตามกำกับดูแลและประเมินผล การปฏิบัติงาน ของผู้สำเร็จการศึกษาจาก
โครงการฯ และประสานกับคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ จัดสรรอัตราข้าราชการครูที่ว่างเนื่องจากการเกษียณอายุของข้าราชการครู กระทรวงศึกษาธิการเป็นรายปี สำหรับบรรจุนักศึกษา สควค.
3. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการเป็นศูนย์ประสาน
การดำเนินงานการผลิตและการบรรจุ ผู้สำเร็จการศึกษา และเป็นหน่วยงานขอตั้งงบประมาณ ตั้งเงินทุนการศึกษาและงบประมาณดำเนินการ และจัดส่งไปยังหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการ ตลอดจนประสานงานติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการ สควค. เพื่อให้งานของโครงการ สควค. ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ
5. คณะกรรมการ
การดำเนินงานโครงการ สควค. จะมีคณะกรรมการ 1 คณะ และคณะอนุกรรมการ 3 คณะ เป็นผู้กำหนดนโยบาย และกำกับการดำเนินงาน คณะกรรมการและคณะอนุกรรมการดังกล่าว มีดังนี้
1. คณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย และกำกับดูแลการดำเนินงานของโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษ ทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) และการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (พสวท.) ตลอดจนพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมการได้ตามความเหมาะสม คณะกรรมการชุดนี้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธาน และผู้อำนวยการ สสวท. เป็นกรรมการและเลขานุการ
2. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ระดับอุดมศึกษาระดับประเทศคณะอนุกรรมการชุดนี้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และ คณิตศาสตร์ ขณะกำลังศึกษาในระดับปริญญาโท มีเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาเป็นประธาน หัวหน้าสาขาพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และส่งเสริมการผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
3. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับหลังสำเร็จการศึกษา คณะอนุกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ระดับหลังสำเร็จการศึกษา มีเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นประธาน หัวหน้าสาขาพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี และส่งเสริมการผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เป็นอนุกรรมการและเลขานุการ
สถาบันผลิตครูที่เปิดรับผู้ที่มีวุฒิการศึกษา วิทยาศาสตรบัณฑิต หรือวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต ยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู |
สถาบันผลิตครูที่เปิดรับผู้ที่มีวุฒิการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต |
1. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ |
1. คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
|
6. การคัดเลือกนักศึกษาเข้าโครงการ
6.1 คุณสมบัติของผู้สมัคร (เป็นไปตามประกาศรับสมัคร)
6.2 การพัฒนาและส่งเสริมการศึกษา
นิสิตนักศึกษาที่ได้รับเลือกเข้าโครงการ สควค. ต้องศึกษาวิชาต่างๆ ให้ครบตามหลักสูตรปริญญาโทที่โครงการ
กำหนด และเข้าร่วมกิจกรรมพิเศษเสริมตามความเหมาะสม ทั้งในขณะศึกษาและหลังสำเร็จการศึกษา ดังนี้
(1) ขณะศึกษา
- เข้าร่วมกิจกรรมตามที่โครงการกำหนด เช่น การปฐมนิเทศ ค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายปัจฉิมนิเทศและอบรม
หลักสูตรห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์
- เงินทุนการศึกษาตลอดหลักสูตร และค่าธรรมเนียมการศึกษาตามที่จ่ายจริง ดังนี้
รายการ |
จำนวนเงิน |
1) ค่าใช้จ่ายส่วนตัว |
104,400 บาท/ปี |
2) ค่าหนังสืออ่านประกอบ |
10,000 บาท/ปี |
3) ค่าคอมพิวเตอร์ |
35,000 บาท/หลักสูตร |
4) ค่าใช้จ่ายสนับสนุนการทำวิทยานิพนธ์ |
25,000 บาท/หลักสูตร |
(2) หลังสำเร็จการศึกษา
- มีสิทธิ์สอบคัดเลือกเข้ารับทุน Super-Premium เพื่อฝึกประสบการณ์การสอนในโรงเรียน
ในต่างประเทศเป็นระยะเวลา 1 ปี
- มีสิทธิ์ขอรับทุนสนับสนุนการนำเสนอผลงานวิจัยในต่างประเทศ
- ได้รับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำวิจัย ประดิษฐ์คิดค้นนวัตกรรมละสื่อการสอนในปีแรกของการทำงานตลอด
จนได้รับการพัฒนา ให้เป็นครูผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์หรือ
คอมพิวเตอร์ในโรงเรียน ตามเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่โครงการกำหนด
6.3 เงื่อนไขและข้อผูกพันทุนโครงการ สควค.
1. ก่อนรับทุนต้องสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรตามประกาศรับสมัคร โดยมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรระดับปริญญาตรี ไม่ต่ำกว่าเกณฑ์ และมีผลคะแนนภาษาอังกฤษเป็นไปตามเกณฑ์ตามประกาศรับสมัคร
2. ขณะศึกษาต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยแต่ละปีการศึกษาไม่ต่ำกว่า 3.50 และเข้าร่วมกิจกรรมตามที่โครงการ สควค. กำหนด นิสิต นักศึกษา ชั้นปีที่ 1 ที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดปีระหว่าง 3.00-3.49 สามารถรับทุนการศึกษาต่อในชั้นปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ได้อีก 1 ภาคการศึกษา หากผลการเรียนในชั้นปีที่ 2 ภาคเรียนที่ 1 ไม่ผ่านเกณฑ์ 3.50 ต้องพ้นสภาพการเป็นนิสิต นักศึกษาทุนโครงการ สควค. แต่ยังสามารถศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยจนสำเร็จการศึกษา โดยใช้ทุนส่วนตัว และจะไม่ได้รับ
การบรรจุเป็นข้าราชการครูทุนโครงการ สควค. และการพ้นสภาพหากเกิดจากเหตุอันไม่สมควร นิสิต นักศึกษา อาจต้องชดใช้เงินทุนการศึกษาเป็นจำนวนเงินสองเท่าที่ได้รับไป
3. หลังสำเร็จการศึกษาต้องสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยกำหนดโดยได้คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรไม่ต่ำกว่า 3.50 และมีผลคะแนนภาษาอังกฤษ TOEFL Internet based test (TOEFL-iBT) ไม่น้อยกว่า 61 หรือ IELTS academics ไม่น้อยกว่า 5.5 และต้องปฏิบัติงานชดใช้ทุนในสถานศึกษา สังกัดกระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ ที่คณะอนุกรรมการ สควค. ระดับหลังสำเร็จการศึกษากำหนดเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งเท่าของจำนวนเวลาที่ได้รับทุน
การศึกษาในประเทศ และไม่น้อยกว่า 2 เท่า ของจำนวนเวลาที่รับทุนการศึกษาต่างประเทศ
7. การประเมินผลโครงการ
ดำเนินการประเมินผลการดำเนินงานโครงการ สควค. ตั้งแต่เริ่มดำเนินตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 จนถึงสิ้นสุดโครงการในปี พ.ศ.2561 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ
1) ประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานของโครงการ
2) ประเมินผลผลิตของโครงการ
3) ศึกษาผลและความคุ้มค่าของโครงการ
4) เสนอรูปแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานของโครงการ
การประเมินผลโครงการ สควค. ประเมินโดยหน่วยงานภายนอกที่มีชื่อเสียงและมีความชำนาญด้านการประเมินโครงการ
8. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
การปรับรูปแบบโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (สควค.) ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556 - 2561) ตามรายละเอียดที่กล่าวแล้วข้างต้น จะมีผลกระทบที่สำคัญในเชิงบวกเกิดขึ้นหลายประการ ดังต่อไปนี้
1) ทำให้ผู้มีศักยภาพสูงเยี่ยม สนใจสมัครเข้ารับทุนโครงการ สควค. เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศชาติมีครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ ที่ดีและเก่ง มีศักยภาพสูง สำหรับจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพสูงเยี่ยมทำให้คุณภาพการศึกษาในภาพรวม (เมื่อเทียบกับนานาชาติ) ของเยาวชนไทย ด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ อยู่ในระดับที่ดีและสูงขึ้น
2) มีครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่มีศักยภาพสูง สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการจัดการเรียนการสอนให้กับเยาวชนของไทยในโรงเรียน มาตรฐานสากลของ สพฐ.
ซึ่งจะตอบสนองและสอดคล้องกับนโยบายของรัฐที่พยายามผลักดันให้เด็กและเยาวชน รุ่นใหม่ สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเสมือนเป็นภาษาที่สองของตนเอง
3) ลดปัญหาการขาดแคลนครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และคอมพิวเตอร์ สำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ในโรงเรียนที่จัดห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ หรือโรงเรียนที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสอน (English Program : EP) หรือ โรงเรียนที่คณะอนุกรรมการ สควค. ระดับหลังสำเร็จการศึกษากำหนด
21 เมษายน 2566
ผู้ชม 36075 ครั้ง